ปวดสะโพกร้าวลงขา เป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อยในคนไข้โรคกระดูกสันหลัง เป็นอาการที่มักจะได้รับการวินิจฉัยว่าปัญหาคือมีการกดทับเส้นประสาทที่ออกมาจากกระดูกสันหลังส่วนเอว เราเรียกอาการปวดสะโพกร้าวลงขานี้ว่า อาการ “ไซอาติกา” ( Sciatica) สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดอาการปวดแบบ “ไซอาติกา” คือโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือโรค”หมอนรองกระดูกทับเส้น “Herniated Nucleus Pulposus ซึ่งพบได้ทั่วไป พบได้ทั้งวัยรุ่น ถึงวัยกลางคน
ปวดสะโพกร้าวลงขาสามารถเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง
- คนที่นั่งทำงานหรือขับรถท่าเดิมเป็นเวลานานติดต่อกัน
- คนที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณสะโพก เช่น ล้มก้นกระแทก, อุบัติเหตุทางรถยนต์
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือหลังคลอดลูก เนื่องจากกระดูกเชิงกรานหละหลวม
- คนที่มีสภาวะหลังคด กระดูกสันหลังผิดรูปแล้วปวดสะโพกเรื้อรัง
- คนที่ขาสั้นยาวไม่เท่ากันมาเป็นเวลานานแล้วมีการปวดสะโพกไม่ทราบสาเหตุ
- คนที่ปวดคล้ายกระดูกสันหลังทับเส้น แต่ว่าผลเอ็มอาร์ไอไม่ชัดเจนว่าจะมีการทับเส้นรุนแรงจริง
- คนที่เคยผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วไม่หายปวด หรือกลับมาปวดสะโพกร้าวลงขาอีกครั้ง
- ผู้ป่วยปวดสะโพกที่มีประวัติข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ หรือโรคที่คล้ายคลึงกัน
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
- หมอนรองกระดูกเคลื่อน และหมอนรองกระดูกแตกทับเส้นประสาท เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ซึ่งมีอาการปวดที่รุนแรงมาก
- กระดูกสันหลังที่มีเส้นประสาทไขสันหลังตีบ หรือแคบลง มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากในขณะที่เรามีอายุเพิ่มมากขึ้น กระดูกจะมีการเสื่อมสภาพตามวัย ทำให้กระดูกตีบ และแคบ สร้างแรงกดดันต่อเส้นประสาท เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา โดยเฉพาะเมื่อนั่งนาน ๆ นั่งหลังค่อมหลังงอ จะมีผลให้แรงกด ต่อเส้นประสาทเพิ่มขึ้นมา
- กระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) กระดูกสันหลังชิ้นใดชิ้นหนึ่งมีการเคลื่อนไปข้างหน้า หรือข้างหลังมากกว่ากระดูกสันหลังชิ้นอื่น ๆ ทำให้เกิดความดันในเส้นประสาท
- เส้นประสาทมีการยึด หรือรั้ง
- กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome)หรือ กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเรื้อรัง ทำให้เส้นประสาทติดอยู่ลึกลงไปในสะโพก ส่งผลให้เกิดอาการปวด
- สาเหตุอื่น ๆ อย่างเช่น ข้อเข่าเสื่อม กระดูกหักที่เกิดขึ้นมาจากโรคกระดูกพรุน พบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ
- มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาในระหว่างตั้งครรภ์
- ส่วนปัจจัยที่ทำให้ปวดสะโพกร้าวลงขาที่พบไม่บ่อยนัก ดังเช่น เนื้องอก ลิ่มเลือด หรือฝีไปกดทับเส้นประสาท
- อายุที่มากขึ้น ทำให้กระดูกสันหลังมีความเสื่อมถอยของความแข็งแรงลง เช่น กระดูกพรุน
- โรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ได้แก่ โรคข้ออักเสบ หมอนรองกระดูกเสื่อม ฯลฯ
- โรคอ้วน เนื่องจากน้ำหนักที่มากเกินไป โดยเฉพาะการมีพุงจะเพิ่มความเครียดให้กระดูกสันหลังมากขึ้น
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิเช่น การนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานานเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนั่งหลังงอ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาและปัญหาอื่น ๆ ตามมา
วิธีการรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
การรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขามีวิธีการรักษา 2 แบบดังนี้
- การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
- ทานยา ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดต้านอักเสบประเภทที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)
- ทำกายภาพบำบัด โดยการควบคุมของหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ชำนาญเรื่องข้อกระดูกเชิงกราน
- ระงับความปวด (Pain Intervention) โดย
- การฉีดยาชาและยาต้านการอักเสบเข้าในข้อเชิงกราน (SI joint injection) เป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาอาการปวดข้อเชิงกรานที่จำเป็น ในกรณีที่หมอต้องการหาจุดสร้างความปวดที่ชัดเจน (Pain Generator)
- การจี้ข้อเชิงกรานด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (SI joint rhizotomy) เป็นการลดปวดแบบไม่ต้องผ่าตัดวิธีหนึ่งที่เป็นมาตรฐานและได้ผลลัพธ์ที่ดี
- การรักษาแบบผ่าตัด
ในกรณีที่ข้อเชิงกรานเกิดการเสื่อมหลวม คนไข้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และล้มเหลวจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดมาแล้ว หมออาจพิจารณาให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกเชิงกราน โดยปัจจุบันมีการผ่าตัดเชื่อมข้อเชิงกรานแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery (MIS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่เสียเลือดน้อย ลดอาการบาดเจ็บ และฟื้นตัวเร็ว ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
หากคุณไม่ยากปวดสะโพกร้าวลงขาคุณต้องหมั่นออกกำลังกายและดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เพราะการออกกำลังกายสามารถช่วยให้คุณไม่ปวดขา ไม่ปวดสะโพกได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญควรควบคุมอาหารและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะการควบคุมอาหารสามารถช่วยในเรื่องของน้ำหนัก ถ้าเรามีน้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์เราก็จะไม่ปวดขาหรือสะโพก แต่ถ้าเรามีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ละก็อาการปวดสะโพกปวดขามาเยือนคุณอย่างแน่นอนค่ะ