สะโพกแตกลาย มักเป็นปัญหาที่รบกวนจิตใจสาว ๆ เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเสื้อผ้าที่ไม่มีใครเห็นก็ตาม ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการสวมใส่เสื้อผ้าเป็นอย่างมาก ทำให้สาว ๆ หลายคนหาวิธีในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันหรือทำให้รอยแตกลายนั้นจางลง ถือว่าเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยให้สาว ๆ ไร้ปัญหาแตกลายนี้ไปได้ หากมีวิธีดูแลตนเองที่สม่ำเสมอ เชื่อว่า สาว ๆ จะกลับมาแต่งตัวได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
สาเหตุของการเกิดสะโพก แตกลาย
ผิวแตกลาย หรือ รอยแตกลาย เป็นรอยที่สังเกตได้ง่าย หรือที่ทางการแพทย์เรียกกันว่า Stretch marks หรือ Striae ซึ่งเป็นแผลชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังและมีสีที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับผิวหนังส่วนอื่น โดยสาเหตุนั้นเกิดจากการฉีกขาดของหนังแท้ ผิวหนังเกิดการยืดขยายตัวอย่างรวดเร็วของผิวหนังบริเวณนั้น ๆ ซึ่งผิวแตกลายนั้นจะเกิดขึ้นที่ผิวหนังชั้นกลาง
และมักจะเกิดในบริเวณที่มีไขมันสะสมอยู่มาก เช่น บริเวณหน้าท้อง หน้าอก เต้านม สะดือ ต้นแขน ต้นขา สะโพกแตกลายและน่อง คนส่วนใหญ่จึงมักเจอปัญหานี้ในตอนเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น เพราะเป็นวัยกำลังกินกำลังโต หรือเกิดจากการมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วจนผิวหนังขยายตามไม่ทัน อย่างในวัยรุ่นที่โตเร็วหรืออ้วนมากเกินไป หรือในกลุ่มนักกีฬาเพาะกายที่มวลกล้ามเนื้อโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
รวมไปถึงกลุ่มคนที่ลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาผิวแตกลายในสตรีตั้งครรภ์มากถึง 90% เพราะครรภ์โตจนทำให้หน้าท้องและขาอ่อนแตกลาย ส่วนสาเหตุอื่น ๆ นั้นก็อาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรค Marfan Syndrome เป็นต้น และเกิดจากการใช้ยาทาหรือยารับประทานในกลุ่มของสเตียรอยด์มาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นยาหม้อ ยาลูกกลอน ซึ่งชาวบ้านชอบกินกันมาก เพราะเข้าใจว่าเป็นสมุนไพรไม่มีพิษมีภัยอะไร
วิธีการรักษาปัญหาสะโพกลาย
ก้นลายหรือรอยแตกที่อยู่ในช่วงที่มีลักษณะเป็นสีแดงชมพู มีแนวโน้มที่รักษาให้จางลงได้มากกว่า วิธีการรักษาแบ่งได้ 2 วิธี คือ การรักษาด้วยตนเอง และการรักษาทางการแพทย์ ปฏิบัติได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้
การรักษาด้วยตนเอง
จะเป็นการรักษาที่ทำเองได้ที่บ้าน เน้นการเพิ่มความนุ่ม ความชุ่มชื่น และกระตุ้นคอลลาเจนให้ผิวหนังด้วยการทาครีม เจล หรือโลชั่น โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดังต่อไปนี้
- เทรติโนอิน (Tretinoin) จะประกอบไปด้วยเรตินอยด์ (Retinoid) อาจช่วยทำให้รอยแตกจางลงได้ และยังใช้ในการรักษารอยเหี่ยวย่นได้อีกด้วย แต่หากใช้ในปริมาณที่มากหรือบ่อยเกินกว่าที่ฉลากกำหนดอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผิวแดง แห้ง หรือลอก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ และไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือในช่วงให้นมบุตร เพราะยาอาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและส่งผลต่อทารกได้
- สารสกัดจากเมล็ดลูพิน (Lupin Seed Extracts) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มคอลลาเจนที่ชั้นผิวหนัง
- สารสกัดจากใบบัวบก (Centella Asiatica Extracts) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มคอลลาเจนและสร้างเนื้อเยื่อที่ชั้นผิวหนัง และยังนำไปใช้สมานแผลได้
- สารสกัดจากหอมหัวใหญ่ (Onion Extract) และกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่ารอยแตกจางลงหลังใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องนาน 12 สัปดาห์
- น้ำมันอัลมอนด์ขม (Bitter Almond Oil) ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่าการใช้น้ำมันอัลมอนด์ขมนวดที่ผิวหนังในขณะตั้งครรภ์ทำให้พบรอยแตกได้น้อยกว่าผู้ที่ใช้น้ำมันอัลมอนด์ขมเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีการนวดร่วมด้วย
- น้ำมันมะกอก โกโกบัตเตอร์ เชียบัตเตอร์ และวิตามินอีออยล์ เป็นผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่อาจช่วยเพิ่มความนุ่มชุ่มชื่นให้กับผิวหนังได้
การรักษาทางการแพทย์
ยังไม่มีวิธีทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาปัญหาก้นลายให้หายสนิทได้ ในปัจจุบันจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนให้ผิวหนัง อาจต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเลือกรักษาได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
- การรักษาด้วย Pulsed Dye Laser เพื่อจัดการกับหลอดเลือดใต้ผิวหนังที่เป็นรอยแตก การรักษาด้วยวิธีนี้มักไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทิ้งรอยที่ผิวหนังได้
- การรักษาด้วย Fractional CO2 Laser ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่ารอยแตกจางลงหลังรักษาด้วยวิธีนี้เป็นจำนวน 5 ครั้งอย่างต่อเนื่อง
- การรักษาด้วย Microdermabrasion เป็นเทคนิคการกรอหน้าด้วยเกร็ดอัญมณี ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่าการรักษาด้วยวิธีนี้ร่วมกับการผลัดเซลล์ผิวจะช่วยให้รอยแตกที่มีลักษณะเป็นสีแดงชมพูจางลงได้